ข้ามไปเนื้อหา

สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย

พิกัด: 41°43′N 44°47′E / 41.717°N 44.783°E / 41.717; 44.783
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย
ทรานส์คอเคเซีย

Закавказская демократическая федеративная республика
22 เมษายน – 28 พฤษภาคม 1918
แผนที่ภูมิภาคคอเคซัสใน ค.ศ. 1918 ของกองทัพอังกฤษ ซึ่งพรมแดนที่เน้นไว้คือดินแดนที่อ้างสิทธิ์[1]
แผนที่ภูมิภาคคอเคซัสใน ค.ศ. 1918 ของกองทัพอังกฤษ ซึ่งพรมแดนที่เน้นไว้คือดินแดนที่อ้างสิทธิ์[1]
เมืองหลวงติฟลิส
ภาษาทั่วไป
การปกครองสหพันธรัฐ สาธารณรัฐระบบรัฐสภา ภายใต้รัฐบาลชั่วคราว
• ประธานสภาเซย์ม
นีโคไล ชเฮอิดเซ
• นายกรัฐมนตรี
อะคากี ชเฮนเคลี
สภานิติบัญญัติสภาเซย์มทรานส์คอเคเซีย
ยุคประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัสเซีย
• ประกาศจัดตั้งสหพันธ์
22 เมษายน 1918
• จอร์เจียประกาศเอกราช
26 พฤษภาคม 1918
• อาร์มีเนียและอาเซอร์ไบจานประกาศเอกราช
28 พฤษภาคม 1918
สกุลเงินรูเบิลทรานส์คอเคเซีย (ru)[2]
ก่อนหน้า
ถัดไป
คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซีย
สาธารณรัฐประชาธิปไตยจอร์เจีย
สาธารณรัฐประชาธิปไตยอาเซอร์ไบจาน
สาธารณรัฐอาร์มีเนีย

สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย (TDFR;[a] 22 เมษายน – 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1918) [b] เป็นรัฐที่มีอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ ในภูมิภาคคอเคซัส โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอาร์มีเนีย, ประเทศอาเซอร์ไบจาน และประเทศจอร์เจียในปัจจุบัน รวมถึงพื้นที่บางส่วนของประเทศรัสเซียและตุรกีด้วย รัฐดำรงอยู่เพียงหนึ่งเดือนก่อนที่จอร์เจียจะประกาศอิสรภาพ ตามมาด้วยอาร์มีเนียและอาเซอร์ไบจานหลังจากนั้นไม่นาน

พื้นที่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งจักรวรรดิได้ล่มสลายในช่วงระหว่างการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917 และทำให้รัฐบาลเฉพาะกาลได้เข้ายึดครองอำนาจแทน เช่นเดียวกันกับในภูมิภาคคอเคซัส ที่มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลเฉพาะกาลที่เรียกว่า "คณะกรรมการพิเศษทรานส์คอเคเซีย (โอซาคอม)" ภายหลังจากการปฏิวัติเดือนตุลาคมและการเถลิงอำนาจของบอลเชวิคในรัสเซีย คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียจึงได้เข้ามาแทนที่โอซาคอมในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1918 ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังคงดำเนินต่อไป คณะกรรมาธิการได้เริ่มการเจรจาสันติภาพกับจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งได้ทำการรุกรานภูมิภาคคอเคซัสอยู่ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากทางจักรวรรดิออตโตมันปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของคณะกรรมาธิการ สนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ซึ่งได้ยุติการมีส่วนร่วมของรัสเซียในสงคราม ยอมให้ดินแดนทรานส์คอเคซัสบางส่วนตกเป็นของจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อต้องเผชิญภัยคุกคามที่ใกล้เข้ามานี้ ทำให้ในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1918 คณะกรรมาธิการได้ประกาศยุบสภาและสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียขึ้นเป็นรัฐอิสระ และได้ก่อตั้งสภานิติบัญญัติหรือสภาเซย์ม (Seim) เพื่อเจรจาโดยตรงกับจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งได้ยอมรับความเป็นเอกราชของสหพันธ์โดยทันที

จุดประสงค์ที่แตกต่างกันของทั้งสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก (ชาวอาร์มีเนีย, ชาวอาเซอร์ไบจาน,[c] และชาวจอร์เจีย) ถือเป็นอันตรายอย่างรวดเร็วต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์ การเจรจาสันติภาพได้พังทลายลงอีกครั้งและต้องเผชิญกับการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันในเดือนพฤษภาคม  ค.ศ. 1918 ผู้แทนชาวจอร์เจียในสภาเซมได้ประกาศว่าสหพันธ์สาธารณรัฐไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ และประกาศให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยจอร์เจียเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม เนื่องด้วยจอร์เจียไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์อีกต่อไป จึงทำให้สาธารณรัฐอาร์มีเนียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาเซอร์ไบจานต่างก็ประกาศตนเองเป็นรัฐเอกราชเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ถือเป็นการสิ้นสุดสหพันธ์ เนื่องจากการดำรงอยู่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียจึงมักถูกลืมเลือนในประวัติศาสตร์ระดับชาติของภูมิภาคนี้ แต่โดยพื้นฐานแล้วถือว่าเป็นกระบวนการขั้นแรกของรัฐทั้งสามที่พยายามประกาศอิสรภาพตนเอง

ประวัติศาสตร์

ภูมิหลัง

พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเซาท์คอเคซัสถูกผนวกรวมเข้ากับจักรวรรดิรัสเซียในช่วงครึ่งกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19[8] ได้มีการจัดตั้งเขตอุปราชคอเคเซียขึ้นใน ค.ศ. 1801 เพื่อกระจายอำนาจการปกครองจากรัสเซียสู่ภูมิภาคได้โดยตรง และในช่วงหลายทศวรรษถัดมา อำนาจในการปกครองตนเองของเขตอุปราชลดลง และอำนาจก็ถูกรวมเข้าสู่ศูนย์กลางรัสเซียมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม เขตอุปราชได้รับอำนาจเพิ่มมากขึ้นใน ค.ศ. 1845[9] โดยเมืองติฟลิส (ปัจจุบันคือ ทบิลีซี) ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรคาร์ทลี–กาเฆที ได้กลายเป็นศูนย์กลางของเขตอุปราชและเมืองหลวงโดยพฤตินัยของภูมิภาคนี้[10] ภูมิภาคเซาท์คอเคซัสส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชนบทอย่างท่วมท้น ยกเว้นเมืองสำคัญอย่างติฟลิสและบากู[d][11] ซึ่งเติบโตขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อภูมิภาคเริ่มส่งออกน้ำมันและกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ[12] ภูมิภาคนี้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก โดยมีสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ได้แก่ ชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน และชาวจอร์เจีย ส่วนชาวรัสเซียนั้นเริ่มมีจำนวนมากขึ้นภายหลังจากที่จักรวรรดิรัสเซียได้ผนวกภูมิภาคนี้[13]

จากการประทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ. 1914 ภูมิภาคคอเคซัสได้กลายเป็นสมรภูมิหลักของการต่อสู้ระหว่างรัสเซียและจักรวรรดิออตโตมัน[14] กองทัพรัสเซียได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่องและเริ่มรุกรานดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างไรก็ตาม ทางการรัสเซียกังวลว่าประชากรท้องถิ่น ซึ่งส่วนมากเป็นชาวมุสลิม จะให้การสนับสนุนสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 5 และหันมาต่อต้านกองทัพรัสเซีย เนื่องจากสุลต่านทรงเป็นกาหลิบ ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาอิสลาม[15] ทั้งสองฝ่ายพยายามปลุกปั่นชาวอาร์มีเนียที่อยู่บริเวณชายแดนเพื่อให้เกิดการลุกฮือขึ้น[16] อย่างไรก็ตาม หลังความพ่ายแพ้ทางทหารของจักรวรรดิออตโตมัน รัฐบาลออตโตมันได้หันมาต่อต้านชาวอาร์มีเนียเสียเอง และกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน ค.ศ. 1915, ซึ่งมีชาวอาร์มีเนียประมาณ 1 ล้านคนที่ถูกสังหาร[17][18]

หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917 ทำให้จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลงและได้มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในรัสเซีย ในช่วงแรก เจ้าอุปราชแห่งคอเคซัส แกรนด์ดยุกนีโคไล ได้แสดงความสนับสนุนรัฐบาลใหม่อย่างเปิดเผย แต่ต่อมาพระองค์ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่ออำนาจของจักรพรรดิถูกล้มล้าง[19] ทางรัฐบาลชั่วคราวได้จัดตั้งคณะปกครองชั่วคราวขึ้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ "คณะกรรมการพิเศษทรานส์คอเคเซีย" (ชื่อย่อในภาษารัสเซียคือ "โอซาคอม"[e]) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 9 มีนาคม] ซึ่งภายในคณะประกอบไปด้วยเหล่าผู้แทนแห่งคอเคเซียจากสภาดูมา (สภานิติบัญญัติรัสเซีย) และผู้นำท้องถิ่นอื่น ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็น "คณะอุปราช" และเหล่าผู้แทนของคณะต่างก็มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลักของภูมิภาคนี้ทั้งสิ้น[21][22] เช่นเดียวกับในเปโตรกราด[f] ที่ระบบอำนาจควบคู่ได้ก่อตัวขึ้น เนื่องจากความพยายามชิงดีชิงเด่นกันระหว่างโอซาคอมและสภาโซเวียต[g][24] แต่ด้วยการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาลในเปโตรกราด จึงเป็นเรื่องยากที่โอซาคอมจะมีอำนาจเหนือสภาโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาโซเวียตติฟลิส[25]

คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซีย

เมื่อข่าวการปฏิวัติเดือนตุลาคม ซึ่งนำไปสู่การเถลิงอำนาจของบอลเชวิคในเปโตรกราดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 25 ตุลาคม] ได้แพร่กระจายไปยังคอเคซัสในวันต่อมา สภาโซเวียตติฟลิสจึงจัดประชุมและประกาศต่อต้านบอลเชวิคโดยทันที สามวันต่อมา นอย จอร์ดาเนีย ซึ่งเป็นสมาชิกเมนเชวิคชาวจอร์เจีย ได้เสนอแนวคิดการปกครองตนเองของรัฐบาลท้องถิ่น โดยอ้างว่าการยึดอำนาจของบอลเชวิคกระทำอย่างผิดกฎหมาย และทางคอเคซัสไม่ควรปฏิบัติตามคำสั่งของพวกเขาและควรรอจนกว่าจะมีการกลับคืนระเบียบ[26] จากการประชุมเพิ่มเติมของเหล่าผู้แทนจากสภาโซเวียตติฟลิส โอซาคอม และคณะอื่น ๆ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน [ตามปฎิทินเก่า: 15 พฤศจิกายน] ได้มีการตัดสินใจยุติบทบาทของโอซาคอม และแทนที่ด้วยคณะปกครองใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซีย ซึ่งปฏิเสธที่จะยอมนอบน้อมต่อบอลเชวิค ภายในคณะประกอบไปด้วยเหล่าผู้แทนจากสี่กลุ่มชาติพันธุ์หลักในภูมิภาค (ชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน ชาวจอร์เจีย และชาวรัสเซีย) โดยคณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียได้เข้ามาแทนที่โอซาคอมในฐานะรัฐบาลแห่งเซาท์คอเคซัส และถูกกำหนดให้ทำหน้าที่นั้นจนกระทั่งการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญรัสเซียในเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 อิฟเกนี เกเกชโครี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานและกรรมการราษฎรฝ่ายกิจการต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ[27] ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ของคณะกรรมาธิการได้ถูกแบ่งสรรกันระหว่างชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน ชาวจอร์เจีย และชาวรัสเซีย[28] คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียจัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์อย่างชัดเจนที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการ เพราะคณะไม่สามารถปกครองได้อย่างมั่นคง กล่าวคือ การตัดสินใจภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงขึ้นอยู่กับสภาแห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและมีบรรทัดฐานตามกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมาธิการจึงขาดการสนับสนุนทางทหารและไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ[29]

กองทัพรัสเซียและออตโตมันยังคงต่อสู้กันต่อไปในภูมิภาคนี้ กระทั่งมีการลงนามในการสงบศึกชั่วคราวแอร์ซินจัน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 5 ธันวาคม][30] เมื่อการสู้รบได้ยุติลง ในวันที่ 16 มกราคม 1918 [ตามปฎิทินเก่า: 3 มกราคม] นักการทูตออตโตมันได้เชิญชวนให้คณะกรรมาธิการเข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับที่บอลเชวิคได้ทำการเจรจายุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่เนื่องด้วยคณะกรรมาธิการไม่ต้องการดำเนินการสิ่งใดโดยอิสระจากรัสเซีย จึงไม่ได้ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลออตโตมันและไม่ได้มีส่วนร่วมกับการเจรจาสันติภาพนี้[31] สองวันต่อมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 5 มกราคม] สภาร่างรัฐธรรมนูญรัสเซียได้จัดการประชุมเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ก่อนที่บอลเชวิคจะยุบสภา เพื่อรักษาเสถียรภาพการปกครองเหนือรัสเซีย[32] ถือเป็นการยืนยันว่า คณะกรรมาธิการไม่สามารถร่วมมือกับบอลเชวิคในกิจการที่เกินความสามารถได้ ดังนั้นคณะกรรมาธิการจึงเริ่มก่อตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการมากขึ้น[33] การสงบศึกระหว่างจัรรรดิออตโตมันและคณะกรรมาธิการยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งวันที่ 30 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 17 มกราคม] เมื่อกองทัพออตโตมันได้เข้ารุกรานคอเคซัสอีกครั้ง โดยอ้างว่าการรุกรานครั้งนี้เป็นการตอบโต้การโจมตีประชากรชาวมุสลิมในดินแดนออตโตมันของกองกำลังติดอาวุธชาวอาร์มีเนีย[34] เมื่อกองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากแนวหน้าเป็นส่วนใหญ่ คณะกรรมาธิการเกรงว่าจะไม่สามารถต้านทานการรุกรานของออตโตมันครั้งนี้ได้ ดังนั้น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการจึงเริ่มเจรจาสันติภาพอีกครั้ง[30]

หมายเหตุ

  1. รัสเซีย: Закавказская демократическая Федеративная Республика (ЗДФР), Zakavkazskaya Demokraticheskaya Federativnaya Respublika (ZDFR)[3]
  2. รัสเซียและทรานส์คอเคเซียนับเวลาโดยใช้ปฏิทินจูเลียน ซึ่งช้ากว่าปฏิทินเกรกอเรียนที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปใช้ 13 วัน อย่างไรก็ตาม รัสเซียได้เปลี่ยนไปใช้ปฏิทินเกรกอเรียนในเดือนกุมภาพันธ์ 1918[4]
  3. ก่อน ค.ศ. 1918 โดยทั่วไปแล้วจะรู้จักกันในชื่อ "ชาวทาทาร์" ซึ่งคำนี้ถูกใช้โดยชาวรัสเซีย หมายถึงชาวมุสลิมที่พูดภาษาเตอร์กิก (ชีอะและซุนนี) ในภูมิภาคทรานส์คอเคซัส ต่างจากชาวอาร์มีเนียและชาวจอร์เจีย ชาวทาทาร์ไม่มีอักขระเป็นของตนเองและใช้อักษรเปอร์เซีย-อารบิกเป็นอักขระหลัก ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาเซอร์ไบจานใน ค.ศ. 1918 และ "โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโซเวียต" ชาวทาทาร์ได้ระบุว่าตนเองเป็น "ชาวอาเซอร์ไบจาน"[5][6] ซึ่งก่อนหน้า ค.ศ. 1918 คำว่า "อาเซอร์ไบจาน" หมายถึงเฉพาะจังหวัดอาเซอร์ไบจานของอิหร่านเพียงเท่านั้น[7]
  4. ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน
  5. รัสเซีย: Особый Закавказский Комитет; Osobyy Zakavkazskiy Komitet[20]
  6. เซนต์ปีเตอส์เบิร์กถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเปโตรกราดใน ค.ศ. 1914[23]
  7. รัสเซีย: Совет หรือ Sovet หมายถึง "สภา"[24]

อ้างอิง

  1. Brisku & Blauvelt 2020, p. 2
  2. Javakhishvili 2009, p. 159
  3. Uratadze 1956, p. 64
  4. Slye 2020, p. 119, note 1
  5. Bournoutian 2018, p. 35 (note 25).
  6. Tsutsiev 2014, p. 50.
  7. Bournoutian 2018, p. xiv.
  8. Saparov 2015, p. 20
  9. Saparov 2015, pp. 21–23
  10. Marshall 2010, p. 38
  11. King 2008, p. 146
  12. King 2008, p. 150
  13. Kazemzadeh 1951, p. 3
  14. King 2008, p. 154
  15. Marshall 2010, pp. 48–49
  16. Suny 2015, p. 228
  17. Kévorkian 2011, p. 721
  18. King 2008, pp. 157–158
  19. Kazemzadeh 1951, pp. 32–33
  20. Hovannisian 1969, p. 75
  21. Hasanli 2016, p. 10
  22. Swietochowski 1985, pp. 84–85
  23. Reynolds 2011, p. 137
  24. 24.0 24.1 Suny 1994, p. 186
  25. Kazemzadeh 1951, p. 35
  26. Kazemzadeh 1951, pp. 54–56
  27. Kazemzadeh 1951, p. 57
  28. Swietochowski 1985, p. 106
  29. Kazemzadeh 1951, p. 58
  30. 30.0 30.1 Mamoulia 2020, p. 23
  31. Kazemzadeh 1951, p. 84
  32. Swietochowski 1985, p. 108
  33. Kazemzadeh 1951, p. 85
  34. Engelstein 2018, p. 334

บรรณานุกรม

  • Bakradze, Lasha (2020), "The German perspective on the Transcaucasian Federation and the influence of the Committee for Georgia's Independence", Caucasus Survey, 8 (1): 59–68, doi:10.1080/23761199.2020.1714877, S2CID 213498833
  • Bournoutian, George (2018), Armenia and Imperial Decline: The Yerevan Province, 1900–1914, Milton Park, Abingdon, Oxon: Routledge, ISBN 978-1-351-06260-2
  • Brisku, Adrian (2020), "The Transcaucasian Democratic Federative Republic (TDFR) as a "Georgian" responsibility", Caucasus Survey, 8 (1): 31–44, doi:10.1080/23761199.2020.1712902, S2CID 213610541
  • Brisku, Adrian; Blauvelt, Timothy K. (2020), "Who wanted the TDFR? The making and the breaking of the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 1–8, doi:10.1080/23761199.2020.1712897
  • de Waal, Thomas (2015), Great Catastrophe: Armenians and Turks in the Shadow of Genocide, Oxford: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-935069-8
  • Engelstein, Laura (2018), Russia in Flames: War, Revolution, Civil War 1914–1921, Oxford: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-093150-6
  • Forestier-Peyrat, Etienne (2016), "The Ottoman occupation of Batumi, 1918: A view from below" (PDF), Caucasus Survey, 4 (2): 165–182, doi:10.1080/23761199.2016.1173369, S2CID 163701318, เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-19, สืบค้นเมื่อ 2021-08-06
  • Hasanli, Jamil (2016), Foreign Policy of the Republic of Azerbaijan: The Difficult Road to Western Integration, 1918–1920, New York City: Routledge, ISBN 978-0-7656-4049-9
  • Hovannisian, Richard G. (1969), Armenia on the Road to Independence, 1918, Berkeley and Los Angeles, California: University of California Press, OCLC 175119194
  • Hovannisian, Richard G. (2012), "Armenia's Road to Independence", ใน Hovannisian, Richard G. (บ.ก.), The Armenian People From Ancient Times to Modern Times, Volume II: Foreign Dominion to Statehood: The Fifteenth Century to the Twentieth Century, Houndmills, Basingstoke, Hampshire: MacMillan, pp. 275–302, ISBN 978-0-333-61974-2
  • Javakhishvili, Nikolai (2009), "History of the Unified Financial system in the Central Caucasus", The Caucasus & Globalization, 3 (1): 158–165
  • Jones, Stephen F. (2005), Socialism in Georgian Colors: The European Road to Social Democracy 1883–1917, Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press, ISBN 978-0-67-401902-7
  • Kazemzadeh, Firuz (1951), The Struggle for Transcaucasia (1917–1921), New York City: Philosophical Library, ISBN 978-0-95-600040-8
  • Kévorkian, Raymond (2011), The Armenian Genocide: A Complete History, Bloomsbury Publishing, ISBN 978-0-85771-930-0
  • King, Charles (2008), The Ghost of Freedom: A History of the Caucasus, Oxford: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-539239-5
  • Mamoulia, Georges (2020), "Azerbaijan and the Transcaucasian Democratic Federative Republic: historical reality and possibility", Caucasus Survey, 8 (1): 21–30, doi:10.1080/23761199.2020.1712901, S2CID 216497367
  • Marshall, Alex (2010), The Caucasus Under Soviet Rule, New York City: Routledge, ISBN 978-0-41-541012-0
  • Reynolds, Michael A. (2011), Shattering Empires: The Clash and Collapse of the Ottoman and Russian Empires 1908–1918, Cambridge: Cambridge University Press, ISBN 978-0-521-14916-7
  • Saparov, Arsène (2015), From Conflict to Autonomy in the Caucasus: The Soviet Union and the making of Abkhazia, South Ossetia and Nagorno Karabakh, New York City: Routledge, ISBN 978-1-138-47615-8
  • Slye, Sarah (2020), "Turning towards unity: A North Caucasian perspective on the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 106–123, doi:10.1080/23761199.2020.1714882, S2CID 213140479
  • Suny, Ronald Grigor (1994), The Making of the Georgian Nation (Second ed.), Bloomington, Indiana: Indiana University Press, ISBN 978-0-25-320915-3
  • Suny, Ronald Grigor (2015), "They Can Live in the Desert but Nowhere Else": A History of the Armenian Genocide, Princeton, New Jersey: Princeton University Press, ISBN 978-0-691-14730-7
  • Taglia, Stefano (2020), "Pragmatism and expediency: Ottoman calculations and the establishment of the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 45–58, doi:10.1080/23761199.2020.1712903, S2CID 213772764
  • Swietochowski, Tadeusz (1985), Russian Azerbaijan, 1905–1920: The Shaping of National Identity in a Muslim Community, Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press, ISBN 978-0-521-52245-8
  • Tsutsiev, Arthur (2014), "1886–1890: An Ethnolinguistic Map of the Caucasus", Atlas of the Ethno-Political History of the Caucasus, New Haven, Connecticut: Yale University Press, pp. 48–51, ISBN 978-0-300-15308-8
  • Uratadze, Grigorii Illarionovich (1956), Образование и консолидация Грузинской Демократической Республики [The Formation and Consolidation of the Georgian Democratic Republic] (ภาษารัสเซีย), Moscow: Institut po izucheniyu istorii SSSR, OCLC 1040493575
  • Zolyan, Mikayel (2020), "Between empire and independence: Armenia and the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 9–20, doi:10.1080/23761199.2020.1712898, S2CID 216514705

41°43′N 44°47′E / 41.717°N 44.783°E / 41.717; 44.783